ประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตร่วมกับนายกรัฐมนตรี

นายกฯ ลงพื้นที่แก้ปัญหาครบวงจร จังหวัดภูเก็ต รองรับการเติบโตภาคท่องเที่ยวยกระดับ เป็น Premium destination สร้างรายได้ให้คนพื้นที่พร้อมสั่งการเร่งก่อสร้างเส้นทางใหม่ ๆ ให้คนภูเก็ตเดินทางสะดวกมากขึ้น ผุดไอเดียโบต แท็กซี่ เชื่อมต่อทุกท่าเรือรอบเกาะภูเก็ต พร้อมย้ำให้ ตร.ใช้กฎหมายเคร่งครัด ปราบผู้มีอิทธิพล

วันนี้ (9 ม.ค.68) เวลา 10.30 น. คุณธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตร่วมกับนายกรัฐมนตรี (แพทองธาร ชินวัตร) ในนามองค์กรเอกชน ร่วมกับ คุณภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน คุณก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และคุณมนต์ทวี หงษ์หยก ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต  และมอบของที่ระลึกแก่นายกรัฐมนตรี ณ ห้องประชุมสำนักงานการท่าอากาศยานภูเก็ต

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมบูรณาการการแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว พร้อมรับฟังภาพรวมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และแนวทางการแก้ปัญหาด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงผลักดันภูเก็ตเป็น Premium Destination และรองรับกิจกรรมขนาดใหญ่ (Big Event) โดยมีนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม  นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมประชุม

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงานสรุปว่า  รายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ตมาจากภาคการท่องเที่ยว และบริการ ร้อยละ 92.9 รายได้จากการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2567 มีมูลค่ากว่า 481,377 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 ร้อยละ 24 เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และมีนักท่องเที่ยว ในปี พ.ศ. 2567 จำนวน 12,898,898 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 ร้อยละ 14.14  มีเที่ยวบินตรงจากประเทศต่าง ๆ 21 ประเทศ รวมกว่า 53 เมือง ปัจจุบันมีเที่ยวบินเฉลี่ยสัปดาห์ละกว่า 2,572 เที่ยว หรือ 368 เที่ยวบินต่อวัน และมีท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ขาเข้า – ขาออก เฉลี่ย 2 เที่ยวต่อสัปดาห์ รวมถึงท่าเรือมารีน่ารองรับเรือยอช์ตที่ทันสมัยในระดับโลกถึง 5 แห่ง มีเที่ยวเรือขาเข้า – ขาออก เฉลี่ย สัปดาห์ละ 13 ลำ

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้นำเสนอประเด็นการพัฒนาพื้นที่ที่ต้องการให้รัฐบาล สนับสนุน จำนวน 6 ประเด็น ได้แก่
1.การจัดการจราจร ขอเร่งรัดและขอรับการสนับสนุน ดังนี้
(1) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการของกระทรวงคมนาคม 4 โครงการ ได้แก่   1) อุโมงค์กะทู้ – ป่าตอง ดำเนินการโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2) ทางพิเศษ เมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ดำเนินการโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3) การขยายช่องจราจร ทางหลวง 4027 (พารา-เมืองใหม่) ดำเนินการโดยกรมทางหลวง และ 4) การก่อสร้างทางยกระดับเมืองใหม่ – สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต ดำเนินการโดยกรมทางหลวง

(2) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่ดำเนินการโดยจังหวัดภูเก็ต  ได้แก่ 1) สามตระกูลภูเก็ต (เอกวานิช กุลวานิช และศักดิ์ศรีทวี) บริจาคที่ดิน ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ เส้น ภก. 3030 – อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ความยาว 6 กิโลเมตร กว้าง 12 เมตร 2) การปรับปรุงถนนสายรองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด 18 สายทาง 3) การปรับปรุงถนนสายรอง อ้อมหลังวัดท่าเรือไปเชิงทะเล (ทางหลวง 4025 – ภก. 3030) ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง
(3) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัดภูเก็ตด้วยระบบไฟจราจร AI ดำเนินการโดย แขวงทางหลวงภูเก็ต
(4) ระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้ารางเบา

2. การจัดการน้ำ ได้แก่ 1) น้ำดี (น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค) การให้บริการประชาชน  ติดลบ 0.5คิว/ปี  ซึ่งหากไม่มีโครงการบริหารจัดการความจุของอ่างเก็บน้ำให้ดี อาจส่งผลให้เกิดปัญหา การขาดแคลนน้ำในอนาคต อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ 2) น้ำเสีย ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย 85,862 คิว/วัน ซึ่งยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยจังหวัดได้ร่วมกับ China Water Environment Group ประเทศจีน ในการศึกษาสำรวจและออกแบบระบบ บำบัดน้ำเสีย 10 แห่ง โดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินการต่อไป

3. การจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ตมีปริมาณขยะโดยเฉลี่ย 1,100  ตันต่อวัน  ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตกำลังก่อสร้าง เตาเผาตัวที่สอง ที่จะกำจัดขยะได้ 500 ตันต่อวัน เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ด้วยเหตุนี้ จังหวัดจำเป็นต้องมีศูนย์กำจัดขยะแห่งใหม่ (แห่งที่สอง) ที่จะดำเนินการโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ที่บริเวณสวนป่าบางขนุน อำเภอถลางต่อไป

4. การจัดการภัยพิบัติ 1) น้ำท่วม จังหวัดภูเก็ตขอรับการสนับสนุน โดยใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม คลองท่าเรือ – เกาะแก้ว และคลองนาลึก ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง งบประมาณ 263,600,000 บาท ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและ    ผังเมืองจังหวัดภูเก็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ แก้ไขปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่ง และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน 2) ดินถล่มจังหวัดภูเก็ต ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ในการป้องกันและแก้ไข ปัญหาจุดเสี่ยงการเกิดดินถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามการศึกษาพื้นที่เสี่ยง ของกรมทรัพยากรธรณี โดยเฉพาะในพื้นที่กะรน และพื้นที่กมลา ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต และศูนย์ป่าไม้ภูเก็ต

5.ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการสร้าง ความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วยระบบกล้องวงจรปิด  และการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ผ่านอาสาสมัครต่าง ๆ

6.การรักษาสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตขอรับการสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์มะเร็ง-รังสีรักษา โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่

นายจิรายุกล่าวต่อไปว่านายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ตและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่า  ลงพื้นที่มาติดตามงาน ซึ่งอย่างที่เห็นปีที่แล้วมีนักท่อง ตัวเลขใกล้กลับเข้ามาเหมือนเดิม ก่อนช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว ซึ่งถือว่ามีการปรับตัวที่ดี นักท่องเที่ยวประมาณเกือบ 1/4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดมาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยากจะให้เน้นเรื่อง“พรีเมียมท่องเที่ยว ”รวมทั้ง อยากให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น เพราะอยากจะสนับสนุนชาวบ้านที่ทำมาค้าขายตรงนี้ให้เต็มที่  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวทางในการทำ“โบ้ทแท็กซี่” (Boat Taxi) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวและการเดินทางในทุกท่าเรือของจังหวัดภูเก็ต หากเอกชนเข้ามาช่วยตรงนี้อย่างเต็มที่  รัฐบาลพร้อมสนับสนุน ทั้งใบอนุญาตหรือท่าเรือที่ปลอดภัย ก็สามารถเกิดธุรกิจขนาดใหญ่ในภูเก็ตกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ

ในส่วนการเดินทางในพื้นที่ภูเก็ต ถนนหลักสาย 402 เมื่อมีปริมาณคนใช้มากขึ้น จึงสั่งการว่า การก่อสร้างที่ได้รับงบประมาณแล้ว  ขอให้เร่งให้แล้วเสร็จเพราะจะช่วยประชาชนได้เป็นอย่างมาก เช่น มีการก่อสร้าง 19 จุด ในพื้นที่ 25 กิโลเมตร ต้องใช้ความร่วมมือจากจังหวัดและตำรวจ ซึ่งต้องสื่อสารกับประชาชน  รวมทั้ง Mass Transport ที่เชื่อมต่อเมื่อนักท่องเที่ยว ถึงสนามบินเข้าสู่ตัวเมือง ก็มีความจำเป็นซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ไม่ได้แปลว่าแย่งหรือทำลายบางอาชีพลง แต่เป็นการปรับตัวให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ โดยการจัดการคมนาคมในระยะสั้นถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะกว่าจะก่อสร้างแต่ละจุดแล้วเสร็จใช้เวลาหลายปี พร้อมกับการส่งเสริมรถขนส่งมวลชนไฟฟ้าหรือบัสอีวี  เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ต้องดูว่าการเพิ่มจำนวนนั้นใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่ จึงอยากพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการใช้งบประมาณโดยไม่เห็นผลต่าง

ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรี ระบุว่านโยบายเรื่อง Soft Power เรากำลังจะเน้นย้ำในเรื่องการจัดให้ประเทศไทยมีเทศกาลด้านการท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ในพื้นที่ภูเก็ต โดยตำรวจท่องเที่ยวอยากให้มีการจัดการประชุมแยกออกมาเพราะอยากให้มีการจัจ (Reset) ระบบใหม่อะไรที่ใช้มานานแล้ว ก็ควรที่จะปรับเปลี่ยน เพราะการท่องเที่ยวมีการใช้ AI หรือเทคโนโลยีเข้ามาทุกอย่างจึงสามารถเช็กได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากรอยากให้ภาครัฐซัปพอร์ตอย่างไรก็ขอให้มาพูดคุยกัน เพราะรายได้ของการท่องเที่ยว ถือเป็นรายได้หลัก ถึงต้องโฟกัสตรงนี้และดูแลให้ดี

ขณะที่ การปราบผู้มีอิทธิพล ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจโฟกัสเรื่องนี้จริงจังเพราะไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยแล้วจะไปพูดได้ว่า อย่างนี้คนมีตังค์มีอิทธิพลขึ้นมาก็จบแล้ว ประชาชนไม่ได้ถูกรับการดูแล ผู้มีอิทธิพลทำให้ผู้ไม่มีอิทธิพลถูกบี้ เป็นหนี้เป็นสิน ถูกขู่เข็ญเรื่องเงินทองเรื่องการโดนหลอก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีปัญหาของประชาชน ในภาคที่เล็กลงไปมาก ๆ เขาเดือดร้อนหนัก จึงอยากเน้นย้ำเรื่องของกฎหมายให้ใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เพราะมีกฎหมายอยู่แล้ว ไม่อยากให้มีการละเว้น การใช้กฎหมายอย่างจริงจังประชาชนจะได้รู้สึกปลอดภัยและประเทศชาติมีระเบียบมากขึ้น  ตนจึงอยากให้เน้นย้ำ

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ อยากให้พื้นที่จังหวัดจัดทำการรณรงค์ การคัดแยกขยะและการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับประชาชนในพื้นที่